วันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2550

การบริหารเศรษฐกิจพอเพียง

“แนวทางเศรษฐกิจชาติ และเศรษฐกิจองค์กร: ทุนนิยม สมดุล มนุษยนิยม”

ไชย ณ พล อัครศุภเศรษฐ์


บทวิเคราะห์ และสังเคราะห์
เศรษฐกิจมนุษยนิยมเป็นสิ่งที่ดี และทุนนิยมก็ไม่ใช่สิ่งที่เลว เพราะเงินหรือทุนเป็นเพียงค่าสมมติ มีความเป็นกลาง และใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน ไม่มีความดีหรือความเลวใดๆ ในเงิน ความดีหรือความเลวอาจเกิดขึ้นเพราะการแลกเปลี่ยนไม่เป็นธรรมอันอาจเกิดด้วยความละโมบของคนส่วนหนึ่งหรือชนชาติบางชนชาติ จึงทำให้ผู้อื่นลำบาก ดังนั้นความดี ความชั่วไม่ได้อยู่ที่เงิน แต่อยู่ที่คนและวิธีที่ควนใช้ในการแสวงหา รักษา และใช้เงิน ซึ่งอาจจะดีหรือเลวก็ได้ขึ้นอยู่กับมโนธรรมของบุคคล และระบบทางสังคม
กระนั้นเศรษฐกิจมนุษยนิยมโดยลำพัง แม้เป็นหลักการที่ดี แต่มักอ่อนแอ เหมือนหญิงสาวที่งดงามไร้เดียงสา แต่ภูมิคุ้มกันต่ำ เมื่อต้องอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยมลพิษ ย่อมติดเชื้อและเจ็บป่วยได้ง่าย เมื่อเศรษฐกิจมนุษยนิยมต้องอยู่ในโลกที่ใช้เงินเป็นค่ากลาง ท่ามกลางประชาคมนานาชาติที่แข่งขันกัน จึงมักมีความอ่อนแอ และอาจถูกนานาชาติรุกรานทางเศรษฐกิจได้โดยง่าย
เมื่อวิเคราะห์เชิงวิชาการด้วยความเป็นกลางแล้ว พบว่าประเทศที่ยึดแนวทางทุน มัก GDP สูง แต่ก็มีปัญหาสังคมสูง อัตราอาชญากรรมมากทั้งในประเทศและที่ละเมิดชนชาติอื่น
ส่วนประเทศที่ยึดแนวทางมนุษย์นิยม ปัญหาสังคมจะน้อย แต่ GDP ต่ำ ทรัพย์สินมักตกอยู่ในมือผู้ปกครองหรือรัฐ ประชาชนพอมีกิน แต่ไม่มั่งคั่ง และเมื่อต้องแข่งขันกับประเทศทุนนิยม มักเพลี่ยงพล้ำโดยง่าย เมื่อเพลี่ยงแต่ละครั้ง เศรษฐกิจก็ก็หายนะ เดือดร้อนกันทั้งประเทศ
ดังนั้น แนวทางเศรษฐกิจที่มั่นคงของชนชาติจึงควรเป็นแนวทางสังเคราะห์ทั้งทุนนิยมและมนุษยนิยมโดยผสมผสานให้ลงตัว ณ จุดพอดี
จุดพอดี คือ จุดที่พอเพียงทั้งสำหรับตน สำหรับครอบครัว สำหรับชุมชนสัมพันธ์ สำหรับป้องกันตนบนเวทีโลกด้วย แล้วที่ไหนคือเวทีโลก
จากกลไกโลกาภิวัฒน์ ที่บีบให้ทุกประเทศเปิดเสรีทางการค้า จึงทำให้ทุกที่ในโลก คือเวทีโลก ดังนั้นแม้จะอยู่ในประเทศตน และไม่คิดจะไปแข่งกับใคร แต่คนทั้งหลายในโลกก็เข้ามาแข่งกับเราในบ้านของเราเอง ดังนั้นความพอเพียงต้องเพียงพอสำหรับป้องกันตน หรือร่วมมือกับชนชาติอื่นอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรมได้ด้วย
ทฤษฏีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงจึงทรงเน้นย้ำทางสายกลาง เพื่อหาความพอเพียงที่พอดีให้เจอ ซึ่งสำหรับแต่ละคน และละอาชีพ แต่ละวงการอาจจะต่างกัน
การหาค่าความพอดีที่ง่ายและปฏิบัติได้จริง คือ

SE = Ha(W + H)W

SE = Sufficient Economy
HA = Happiness for all
W = Wealth
H = Health
W = Wisdom

Happiness for All
การกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อทุกข์ทั้งแก่ตนและคนอื่น ย่อมเป็นบาป เพราะนำภัยมาให้ทั้งระยะสั้น และระยะยาว ดังนั้นหลักการแรกแห่งความชอบธรรมคือพึงกอปรกิจเพื่อความสุขทั้งแก่ตนและ คนอื่นพร้อมกัน
แต่ความสุขที่ดีนั้น ต้องเป้นความสุขที่มีสรรถภาพ และประสิทธิภาพสูง และสร้างสรรค์คุณค่าอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ความสุขแบบขี้เกียจ มิใช่สุขแบบอดหยากและรอให้คนมาสงเคราะห์ หรือสุขแบบหลงใหลกระแสไปวันๆ ซึ่งไร้ความเสถียร
ความสุขที่ล้ำค่าจึงต้องเป็นไปเพื่อ Wealth and Health ด้วย

Wealth
สมบัติทั้งหลายมีค่าเป็นกลาง และใช้เป็นตัวกลางในการดำเนินกิจกรรมทางสังคมทั้งหลาย ดังนั้นการมีสมบัติจึงมีสิ่งที่เป็นกลางเพื่อการปฏิสัมพันธ์ที่ดี คนมีสมบัติมากก็เกื้อกูลได้มาก
แต่ที่สำคัญการแสวงหา การรักษา และการใช้สอยจะต้องชอบธรรม คือเป็นไปเพื่อประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ประโยชน์ส่วนรวมพร้อมกัน
หากเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขทุกฝ่ายแล้ว จะรวยเท่าไร ก็รวยไปเถิด แต่อย่าพยายามร่ำรวยจน เสียสุขภาพหรือสร้างความทุกข์ให้แก่ตนเองและผู้อื่นเป็นอันขาด จะขาดทุน

Health
ต้นทุนในการซ่อมบำรุงสุขภาพเมื่อเสียหายนั้นแพงมาก ทั้งในขณะที่ซ่อมสุขภาพอยู่ก็จะด้วยสมรรถภาพ ไร้ผลิตภาพ และสูญเสียความสุข ซึ่งปัญหาอื่นๆ จะตามมามากมาย การเสียสุขภาพจึงเป็นภาระอันยากลำบากทางเศรษฐกิจทั้งของตนเอง ขององค์กร ของสังคม และของชาติ
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” เพราะสุขภาพเป็นปัจจัยหลักของเศรษฐกิจประการหนึ่ง
ดังนั้น การมาทำงานร่วมกันของทุกคน พึงคำนึงถึง และส่งเสริมการรักษาสุขภาพของกันและกันด้วย อย่าปล่อยให้ป่วย แล้วมาตามซ่อมกัน ดีไม่ดีซ่อมไม่ได้ จะขาดทุนชีวิต

WISDOM
การจะทำทั้งหมดนี้ได้นั้น แน่นอน ปัจจัยจำเป็นที่ต้องมีให้มาก คือปัญญา ต้องมีปัญญารอบด้าน ประมวลปัญญาผสมผสานนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สุขจริงต่อชีวิต ต่อการงาน และการอยู่ร่วมกัน
ดังนั้น บุคคลกรทุกระดับ ต้องพัฒนาปัญญากันให้มาก ความรู้ที่มีอยู่ก็ต้องนำมาใช้ให้เกิดผลจริง แบ่งปันความรู้กัน อย่าเก็บไว้จนฝ่อหายไป
แลกเปลี่ยนคุณค่ากันและกัน พัฒนากันไป จนกว่าจะถึงเป้าหมาย คือทุกคนเป็นสุข อยู่สบายกันถ้วนหน้า

ไม่มีความคิดเห็น: